8 วิธีการ "ใช้เครื่องปรับอากาศ" อย่างเย็นใจและสบายกระเป๋า

         

 จากสภาพอากาศร้อนจัดที่เพิ่มขึ้นทุกปี ผนวกกับกลยุทธ์การตลาดที่จัดโปรโมชั่นจำหน่ายเครื่องปรับอากาศเงินผ่อนแบบ ไม่มีดอกเบี้ย ทำให้ประชาชนหันมาซื้อเครื่องปรับอากาศไปคลายร้อนเพิ่มขึ้น โดยพบว่า ในแต่ละปีเครื่องปรับอากาศมียอดการจำหน่ายสูงถึง 4 แสนเครื่อง หากคำนวณอัตราการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง ที่ 1,500 วัตต์ สำหรับเครื่องปรับอากาศอย่างเดียวเท่ากับในแต่ละปีประเทศไทย จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 600 เมกะวัตต์

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และประหยัดเงินในกระเป๋า จึงมีวิธีการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างมีประสิทธิภาพมานำเสนอ 8 วิธีการ 

1. ควรล้างเครื่องปรับอากาศปีละครั้ง ควรจะมีการถอดล้างภายในโดยช่างผู้ชำนาญทุกปี เพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะสามารถยืดอายุการใช้งานและประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 10%
2. กันร้อนให้คอนเดนเซอร์ เจ้าของเครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำคัญของคอนเดนเซอร์ที่ตั้ง อยู่ภายนอก โดยการนำคอนเดนเซอร์ไปวางไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น วางไว้บนดาดฟ้า วางไว้บนพื้นซีเมนต์กลางแดด หรือวางไว้ในที่ลมถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้คอนเดนเซอร์ทำงานหนัก และลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศลง ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงควรตั้งคอนเดนเซอร์ไว้ในที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทสะดวกหรือจัดหาร่มเงาให้ เช่น วางกระถางต้นไม้ไว้ใกล้ ๆ เพื่อบังแดด และควรตั้งห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น จะประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 15-20
      3. ควรปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25-26 องศาเซลเซียส ควรตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25-26 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่จะทำให้ร่างกายรู้สึกสบายและช่วยประหยัดไฟที่สุด จำไว้ง่าย ๆ ว่า การเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศทุก ๆ 1 องศา-เซลเซียส จะช่วยประหยัดค่าไฟได้มากถึง 10%
4. ไม่นำความชื้นเข้าห้อง อย่านำของชื้นเข้ามาในห้องที่ปรับอากาศ เช่น ไม่ควรปลูกต้นไม้หรือตากผ้าในห้องที่มีการปรับอากาศ เพราะจะเป็นการเพิ่มความชื้น และทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น
5. ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทขณะเปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศร้อนชื้นจากภายนอกเข้ามา ทำให้เครื่องต้องทำงานหนักขึ้น
6. ถ่ายเทความร้อนในช่วงเวลาที่ไม่ใช้ห้อง หรือ ก่อน เปิดเครื่องปรับอากาศสัก 15 นาที ควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ภายนอกเข้าไปแทนที่อากาศเก่าในห้อง จะช่วยลดกลิ่นต่าง ๆ ให้น้อยลง โดยไม่จำเป็นต้องเปิดพัดลมระบายอากาศ ซึ่งจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น
7. ไม่นำของร้อนเข้าห้อง หลีกเลี่ยงการนำเครื่องครัวหรือภาชนะที่มีผิวหน้าร้อนจัด เช่น เตาไฟฟ้า กระทะร้อน หม้อต้มน้ำ หม้อต้มสุกี้ เข้าไปในห้องที่มีการปรับอากาศ ควรปรุงให้เสร็จจากในครัว แล้วจึงนำเข้ามารับประทานภายในห้อง เพื่อไม่เป็นการเพิ่มความร้อนในห้อง อันเป็นสาเหตุให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักเกินไป
8. ปิดก่อนออก ควรปิดเครื่องปรับอากาศก่อนจะออกจากห้องอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพราะยังมีความเย็นหลงเหลืออยู่ โดยการปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 บีทียูเร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการใช้ไฟได้ 21 หน่วยต่อเดือน ประหยัดได้ 52.50 บาทต่อเดือน ถ้าปิดเร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง 1 ล้านเครื่อง จะประหยัดไฟให้ประเทศได้เดือนละ 52.50 ล้านบาท หรือ 630 ล้านบาทต่อปี
ที่มา  www.erdi.or.th
Share on Google Plus

About Unknown

ADMIN Clartethailand ฝ่ายขายออนไลน์ลูกค้าต้องการซื้อพัดลมกระจายความเย็นจำนวนมากเพื่อไปติดให้ทางเราทำใบเสนอราคาได้ ติดต่อฝ่ายขายออนไลน์ 02-9192311 ต่อ 301-302
    Blogger Comment
    Facebook Comment